Skip to content
The Rookie Mom คุณแม่มือสมัครเลี้ยง

ฝึกเรื่องทีมเวิร์กให้ลูกด้วยกีฬา Feat. คุณเอ๋-พัชรี รักษาวงศ์

ฝึกเรื่องทีมเวิร์กให้ลูกด้วยกีฬา Feat. คุณเอ๋-พัชรี รักษาวงศ์

กีฬาเป็นยาวิเศษที่แท้ทรูเลยก็ว่าได้สำหรับร่างกาย แต่คุณแม่รุ่นพี่อย่าง ‘เอ๋-พัชรี รักษาวงศ์’ กลับมองว่า กีฬาเป็นมากกว่านั้น เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายของลูกชายอย่าง ‘น้องเบน’ วัย 7 ขวบแข็งแรงแล้ว ยังเป็นครูชีวิตที่ดีในหลากหลายด้านให้กับน้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ‘ทีมเวิร์ก’ ที่สำคัญกับการเล่นกีฬาประเภททีมอย่างฟุตบอล  ซึ่งน้องเบนเล่นอยู่ แต่ ‘นิดนก-พนิตชนก ดําเนินธรรม’ โฮสต์ของรายการก็ยังไม่วายสงสัยอีกว่า แล้วกีฬาอื่นๆ ที่น้องเบนเล่นหรือสนใจอยู่อย่าง ยิมนาสติก เทนนิส กอล์ฟ หรือแม้กระทั่งบาสเกตบอล มันสร้างเรื่องทีมเวิร์กให้กับเด็กอย่างไร

ยิมนาสติกคือจุดตั้งต้น เทนนิสคือจุดจริงจัง

คุณเอ๋นึกย้อนไปถึงน้องเบนตอนอายุ 2 ขวบพลางเล่าติดตลกว่า รู้สึกเหนื่อยกับลูกคนนี้ เพราะเขามีพลังที่ล้นเหลือมาก ไม่รู้ว่าจะหาทางออกให้กับพลังตรงนี้อย่างไรดี เลยไปปรึกษาเพื่อน จนเพื่อนแนะนำว่า “ไปปล่อยที่โรงยิมนาสติกให้เป็นเรื่องเป็นราว” ไม่นาน น้องเบนก็ก้าวเข้าสู่วงการยืดหยุ่นแบบเต็มตัว และได้รู้จักการกระโดน ม้วน ปีน และไต่ โดยใช้พลังงานอย่างเต็มที่อยู่ในโรงยิมนาสติก

เมื่อน้องเบนย่างเข้าสู่ขวบที่ 3 เริ่มขยับจากยิมนาสติกมาเทนนิส จากความใฝ่ฝันของคุณพ่อที่อยากให้เติบโตไปในด้านนี้และมุ่งสู่การแข่งขันระดับสากล แต่แม่อย่างคุณเอ๋กลับมองในอนาคตอันใกล้กว่านั้นคือ ให้ลูกได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย (Sport Scholarship) เพื่อให้เขาต่อยอดชีวิตและอนาคตของตัวเองได้

ทีมเวิร์กจากกีฬาเล่นเดี่ยว

เล่นเป็นคู่ เล่นเป็นทีม ยังพอเห็นเรื่องของทีมเวิร์ก แต่พอเล่นเดี่ยวๆ ทีมเวิร์กของกีฬาประเภทนี้อยู่ตรงไหน คุณเอ๋บอกว่า กีฬาอย่างยิมนาสติกหรือเทนนิสก็ดี มีทีมเวิร์กอยู่ตรงที่ ‘ลูกที่เป็นนักเรียนและโค้ช’ ต้องทำงานร่วมกัน และอย่าได้มองข้ามทีมเวิร์กตรงนี้ไป เพราะถ้าหากไม่มีทีมเวิร์กที่ดีกับโค้ช เชื่อมความคิดที่ตรงกันไม่ได้ อาจจะทำให้ลูกไปไม่ได้ไกลจากจุดที่อยู่มากนัก อีกทั้งทีมเวิร์กที่มาจาก ‘พ่อแม่’ ก็สำคัญ เพราะถือเป็นพลังใจที่จะทำให้ลูกมุ่งมั่นต่อการเล่นกีฬามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไปส่งลูกแข่งขัน ให้กำลังใจลูกข้างสนาม หรือสร้างโมเมนต์ดีๆ ในระหว่างการแข่งขันให้กับลูก

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คุณเอ๋เล่าให้ฟังว่า น้องเบนไม่อยากซ้อมเทนนิส เพราะโค้ชที่สอนดุเกินไป เธอเลยลงมือกระซิบบอกโค้ชด้วยตัวเองว่า ชอบสไตล์และวิธีการสอนของโค้ช แต่ให้โค้ชลดความเข้มงวดลงมา เพราะไม่อยากให้ลูกหมดความสนใจตรงนี้ไป เพราะความดุจากโค้ช ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งทีมเวิร์กที่ดีระหว่างคนเป็นแม่และโค้ช ที่ช่วยให้ลูกเอ็นจอยและมีความสุขกับการซ้อมกีฬามากขึ้น แถมตัวแม่เองก็อยากให้เขาได้รับพลังงานดีๆ จากการฝึกซ้อมครั้งนี้ด้วย

คุณเอ๋ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากกีฬาเล่นเดี่ยวอย่างยิมนาสติกและเทนนิสแล้ว ยังมีกอล์ฟเพิ่มเติมเข้ามาอีก เหตุที่เพิ่มเข้าไป เพราะไม่อยากให้ลูกเน้นกีฬาที่ใช้แต่พลังอย่างเดียว แต่อยากให้ลูกเล่นกีฬาที่ใช้ความนิ่งด้วย เพื่อเป็นการฝึกสมาธิ และสร้างสมดุลชีวิตของลูกให้อยู่ในจุดที่พอดีกัน

ทีมเวิร์กจากกีฬาเป็นทีม

เล่นเดี่ยวก็ไม่ทดท้อ เล่นทีมก็ไม่ย่อหย่อน เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาอีก 1 ประเภทที่น้องเบนชื่นชอบเช่นเดียวกัน ซึ่งคุณเอ๋ย้ำในรายการมากๆ ว่า กีฬาประเภทนี้แหละสร้างทีมเวิร์กและสำรวจตัวตนของลูกได้อย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่การค้นหาตำแหน่งที่อยากเล่น ลองไปตั้งแต่การเป็นกองหน้า กองหลัง ไปจนถึงประตู สุดท้ายมาลงเอยที่กองหลัง เพราะโค้ชบอกว่า น้องเบนเล่นตำแหน่งนี้ได้ดี และตัวน้องเบนเองก็ชอบวิ่งมากกว่าอยู่เฉยๆ

ต่อมา ฟุตบอลช่วยส่งเสริมเรื่องการผูกมิตร (Friendship) ให้กับน้องเบนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกีฬาที่ต้องเจอและพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา หรือเวลายิงประตูได้ ก็แสดงความยินดีด้วยการแท็กมือกับเพื่อน สิ่งเหล่านั้นทำให้ลูกหลุดเข้าไปในโลกของทีมเวิร์กแบบไม่รู้ตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์เอามากๆ ในด้านของการสร้างมิตรภาพ นอกจากนี้ สิ่งที่คาดไม่ถึงที่คุณเอ๋ได้ยินจากปากของน้องเบนเลยก็คือ ‘เทคนิคที่น้องเบนสังเกตได้จากเพื่อนรอบข้างของเขา’

ทุกคนรอบข้างอย่างน้องๆ หรือเพื่อนๆ ในสนาม กลายเป็นต้นแบบ (Role Model) ชั้นดีให้กับลูก โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่น้องสังเกตเห็นทักษะการเดาะฟุตบอลจากน้องในทีมที่เจ๋งมากๆ และกลับมาพูดกับคุณเอ๋ว่า ภาพที่ได้ไปเห็นมากลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้อยากเล่นกีฬาและพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เพราะความสามารถอย่างการเดาะฟุตบอลไม่ได้เกี่ยวกับขนาดและรูปลักษณ์เลยว่า คนนั้นตัวเล็ก สูง หรืออ้วน แต่มันเกี่ยวกับทักษะและการฝึกซ้อมล้วนๆ

ดูแลจิตใจในวันที่ลูกรู้ถึงความพ่ายแพ้

เมื่อน้องเบนเล่นกีฬามาถึงจุดหนึ่ง จากที่เล่นเพื่อความสนุก นิดนกตั้งข้อสังเกตว่า กีฬาอาจเริ่มกลายเป็นการแข่งขันในสายตาของน้องเบนมากขึ้น แล้วอย่างนี้คุณแม่สร้างความเข้าใจเรื่องการแพ้-ชนะ หรืออธิบายความผิดหวังที่น้องจะได้รับจากการแข่งขันอย่างไร คุณเอ๋ถอนหายใจพร้อมตอบออกมาดังๆ ว่า “หนักใจมาก”

เท้าความก่อนว่า เมื่อน้องเบนตอนเล็กๆ เป็นคนที่แพ้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเล่นเกม วาดภาพระบายสี หรือทายปัญหาก็ตามแต่ พอแพ้จะโกรธหรืออารมณ์เสียขึ้นมาทันที ซึ่งคุณเอ๋มองว่า น้องเบนในตอนนั้น อาจจะยังไม่รู้จักกีฬาที่มีเรื่องของการเข้าสังคม ทีมเวิร์ก และการอยู่ร่วมกัน แต่พอน้องได้รู้จักกีฬา และได้รู้ซึ้งถึงการแพ้-ชนะ สิ่งที่สังเกตได้จากน้องคือ ร้องไห้ ด้วยธรรมชาติของเด็ก เขาก็คงเสียใจเป็นของธรรมดา สิ่งที่จะปลอบประโลมจิตใจหลังจากรับรู้ถึงความพ่ายแพ้นั้นคือ ‘คำพูด’ ที่ช่วยกระตุ้นให้เขาคิดได้อย่างมีเหตุมีผล ถึงความพ่ายแพ้ที่ผ่านมา

“มันมีโอกาสครั้งหน้าอีกนะ”

“โอกาสครั้งหน้า เมื่อมาลงแข่งอีก ต้องทำอย่างไรให้ชนะ”

“วันนี้เราได้ถ้วยเล็ก วันหน้าเราจะกลับมาคว้าถ้วยใหญ่กัน”

ทั้งหมดนี้คือคำพูดที่คุณเอ๋ใช้กับน้องเบน แล้วได้ผลเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะทำให้ลูกสงบลงแล้ว ยังทำให้ลูกมีตรรกะในเรื่องของการแพ้-ชนะอย่างมีเหตุผล และเป็นพลังใจให้เขาฮึดสู้ต่อ แต่ทั้งหมดทั้งมวล คุณเอ๋ย้ำมาว่า ต้องพูดคุยกันในจังหวะที่น้องเย็นลงแล้ว ไม่ใช่พูดตอนน้องงอแง อารมณ์ไม่ดี เพราะพูดไป น้องเขาอาจไม่ได้เข้าใจสารนั้นอย่างแท้จริง

นอกจากคำพูดแล้ว เคล็ด (ไม่) ลับที่คุณเอ๋อยากแบ่งปันให้เหล่า The Rookie Mom ในการอธิบายความผิดหวัง หลังเกมการแข่งขันจบลง นั่นคือ สมุดจด จดในที่นี้ จดในประเด็นที่สังเกตจากการแข่งขัน มีจุดอ่อน ข้อควรระวัง หรือเรื่องอะไรที่ต้องพัฒนาหลังจากนี้ แล้วนำไปบอกโค้ชให้ทราบอีกที เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนี้ได้อย่างตรงจุด โดยการทำงานเป็นทีมกับลูกตรงนี้ ก็ถือเป็น ‘ทีมเวิร์ก’ ที่จะช่วยให้ลูกพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น

ดูแลร่างกายในวันที่ลูกเหนื่อย

หลังจากเรื่องแพ้-ชนะ เรื่องเบาๆ ที่ต้องดูแลลูกทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬาคือ อาหารการกิน โดยคุณเอ๋ใส่ใจกับเรื่องโภชนาการของน้องเบนเป็นพิเศษ เพราะไม่อยากให้ลูกได้รับคาร์โบไฮเดรตหรือวิตามินอย่างใดอย่างหนึ่งในแต่ละมื้อเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นอาหารที่ได้พลังงานแบบครบถ้วน และเสริมสร้างพละกำลังให้น้องเล่นกีฬาได้อย่างต่อเนื่อง

สิ่งแรกที่คุณเอ๋แนะนำเลยคือ กล้วย เพราะง่ายต่อการกิน และอยู่ท้องได้ยาวๆ กับอย่างที่สองคือ เครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์อย่าง ‘ไมโล’ ที่ได้สารอาหารแบบเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากมอลต์ ที่ทำให้มีกำลังในขณะเล่นกีฬา ไปจนถึงโปรตีนที่ได้รับจากนม ทำให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง โดยทั้ง 2 สิ่งนี้หาได้ง่ายและเตรียมได้ไม่ยุ่งยาก สำหรับคุณแม่ที่ต้องจัดการเรื่องอาหารให้กับลูกขณะเล่นกีฬา

คุณเอ๋บอกถึงการกินของน้องเบนว่า ค่อนข้างโชคดีที่น้องปฏิเสธขนม รับประทานแต่ของที่มีประโยชน์ เพราะตัวเขาก็อยากให้ร่างกายลีนตลอดเวลา เพื่อสร้างความกระฉับกระเฉงตอนเล่นกีฬา ซึ่งคุณเอ๋มองว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะมันคือ ‘การฝึกตัวเอง’ ในฐานะคนเล่นกีฬาคนหนึ่งที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรค (Adversity) นี้ไปให้ได้ทั้งในเรื่องของร่างกายและจิตใจ เพื่อมุ่งไปให้ถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้น เหล่าคุณแม่จึงต้องควบคุมเรื่องโภชนาการให้พอเหมาะพอดี

กีฬาคือครูชีวิต

แม้กีฬาจะเป็นการแข่งขันแบบที่ต้องรู้แพ้-รู้ชนะภายในสนาม แต่สิ่งที่กีฬาแบบทีมเวิร์กมอบให้น้องเบนและคุณเอ๋มากกว่านั้น ที่ไม่เพียงเฉพาะความแข็งแกร่งภายในร่างกายที่ลูกได้รับ แต่เป็นการเรียนรู้และเข้าใจชีวิต 4 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ

1. การก้าวไปพร้อมกัน พร้อมกันในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึง เพื่อนในสนามที่เล่นกับน้องเบนอย่างเดียว แต่พ่อแม่ ลูก และโค้ชยังต้องร่วมมือกันอย่างขยันขันแข็ง เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ไปสู่เป้าหมายให้ได้

2. การแบ่งปันร่วมกัน ไม่เพียงแค่แบ่งปันการเล่นระหว่างเพื่อน แต่น้องเบนยังเก็บเกี่ยวเทคนิคและสิ่งต่างๆ ที่มองเห็นระหว่างเพื่อนในทีมได้ เช่น การเลี้ยงลูกฟุตบอลขั้นเทพจากเพื่อนที่ตัวเล็กกว่า โดยน้องมองในเรื่องของความสามารถมากกว่าขนาดร่างกายที่ต่างกันออกไป

3. การสนับสนุนที่ดี จากเพื่อนร่วมทีมของน้องเบนที่เล่นอยู่ในสนาม รวมถึงคุณแม่อย่างคุณเอ๋เองก็ตาม ก็ถือเป็นอีก 1 แรงสนับสนุนชั้นเยี่ยมให้กับลูก เพราะอย่าลืมว่า ลูกคือนักสู้ผู้โดดเดี่ยวที่อยู่ในสนาม และแม่เป็นดั่งกองเชียร์คนสำคัญที่จะทำให้เขามีกำลังใจในการเล่นมากขึ้น

4. การมองเห็นคุณค่าตัวเองและเพื่อนร่วมทีม ทั้งในตัวน้องและเพื่อนๆ ในทีมที่เห็นถึงความสามารถที่มีอยู่ภายในของแต่ละคน ในการเลือกตำแหน่งการเล่นที่เหมาะสมกับตัวเอง และคุณแม่อย่างคุณเอ๋ก็มองเห็นตัวตนของลูกได้อย่างไม่ตัดสินว่า การอยู่ไม่นิ่งหรือวิ่งตลอดเวลา กลายเป็นข้อบกพร่อง แต่มันคือโอกาสในการพัฒนาลูกให้หันมาเล่นกีฬา และต่อยอดอนาคตให้กับลูกได้อย่างสวยงามต่อไป

นอกจากนี้ กีฬายังได้มอบทักษะชีวิตสำคัญ 3 อย่าง และนิสัย 1 อย่างให้กับน้องเบน ซึ่งได้แก่


– ทักษะการเข้าสังคม ที่ต้องเข้าหาโค้ชและกรรมการ เพื่อพัฒนาทักษะกีฬาของตัวเอง

– ทักษะการดูแลสุขภาพ ที่รู้จักเลือกกินอาหารและดูแลตัวเอง เพื่อให้ร่างกายพร้อมอยู่เสมอ

– ทักษะการสร้างมิตรภาพ เมื่อยามต้องเจอเพื่อนหน้าเก่าและใหม่ รวมถึงไม่กลัวคนแปลกหน้าที่จะเข้ามา

นิสัยตรงต่อเวลา เพื่อสร้างความกระตือรือร้นในการรับมือกับการแข่งขันได้อย่างทันท่วงที   

ดังนั้น สนามแข่งจึงเป็นเหมือนโรงเรียนชีวิต ที่ทำให้น้องได้รับประสบการณ์ตรงจากกีฬา และ กีฬาคือครูชีวิต ที่ทำให้น้องรู้จักคุณค่าในตัวเอง และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ ‘กีฬา’ ปลูกฝังให้กับน้องเบน

คุณเอ๋จบท้ายด้วยการแนะนำถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกสนใจกีฬาขึ้นมาว่า ให้ลองถามถึงกิจกรรมในโรงเรียนกับลูกดูว่า น้องชอบทำหรือสนใจอะไร หากมีกีฬาอยู่ในนั้น จะได้จับทางกีฬาที่เหมาะกับลูกถูก หรือบางทีอาจลองเปิดช่องกีฬาให้น้องดูที่บ้าน เพื่อกระตุ้นความสนใจก็ได้ ไปจนถึงการให้ลูกเข้ากลุ่ม Play Date เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้อยากเล่นกีฬามากขึ้น และ อย่าไปบังคับให้ลูกทำ หากเขาไม่ชอบ หรือหากเล่นกีฬาอยู่แล้ว ก็อย่าผลักดัน ดุ หรือเค้นศักยภาพในตัวมากจนเกินไป เพราะเขาอาจหมดไฟเรื่องกีฬาไป จนกู้ความชอบกลับมาไม่ได้อีกเลย

ข้อความทิ้งท้ายของคุณเอ๋ กลายเป็นเครื่องเตือนใจให้แม่ทุกคนตระหนักว่า ลูกจะรักกีฬาได้ ลูกต้องชอบมันด้วย และหากน้องเล่นกีฬาอยู่แล้ว เรื่องทีมเวิร์ก ทั้งพ่อแม่ ลูก และโค้ช (ถ้ามี) คือสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย  

#SalmonPodcast #TheRookieMom #คุณแม่มือสมัครเลี้ยง #นิดนก #MILOThailand #พลังของทีมเวิร์ก #กีฬาคือครูชีวิต

ฟัง The Rookie Mom คุณแม่มือสมัครเลี้ยง ได้ที่..
More Episode